ตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง ประพาสต่างแดน
  • ไม่สามารถใส่ "หนังสือในหลวงในดวงใจ" ลงตะกร้าได้ เพราะสินค้าหมดแล้ว
Sold out
  • i5

ตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง ประพาสต่างแดน

249.00 ฿ 210.00 ฿

สินค้าหมดแล้ว

รหัสสินค้า: 978-616-376-053-1 หมวดหมู่: ,
000

Description

คำนำสำนักพิมพ์

 หนังสือ “ตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง ประพาสต่างแดน” จัดทำขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นเครื่องราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งเป้นการเทิดพระเกียรติและบอกเล่าเรื่องราวทรงคุณค่าควรแก่การจดจำ จากจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันที่ได้รับทรงพระราชนิพนธ์ในคราวเสด็จประพาสต่างแดน ทรงบรรยายถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชากรในแต่ละประเทศที่เสด็จพระราชดำเนินเยือน รวมถึงแนวพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ที่ทรงมีต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในตลอดระยะเวลาแห่งการเสด็จฯ นั้น ทั้งยังทรงมีลายพระหัตถเลขาถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินีนาถ (ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (ราชเลขานุการิณีในพระองค์) และผู้สำเร็จราชการ จนในภายหลังได้มีพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่มหาชน

นอกจากเสด็จประพาสประเทสเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างเช่นพม่า สิงคโปร์ ชวา ที่นำมาซึ่งความทันสมัยในการก่อสร้างถนน และอาคารตึกรามบ้านช่องแล้ว การเสด็จประพาสยุโรปถึง ๒ ครั้ง ยังได้สร้างคุณูปการอย่างมากมายแก่ประเทศสยาม โดยการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๑  พระองค์ทรงเจริญพระราชไมตรี ทรงสร้างสัมพันธภาพด้วยกุศโลบายทางการเมือง เพื่อป้องกันประเทศสยามประการหนึ่ง ส่วนครั้งที่๒ เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงรับการรักษาพระอาการประชวร ตามคำแนะนำของแพทย์หลวง

ท่านที่เคยอ่านพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้านคงจะทราบกันดีว่า มิได้ทรงไป “เที่ยว” แต่ประการใด ตลอดระยะเวลาเสด็จพระราชดำเนินนั้น มิได้ทรงพระสำราญพระวรกายและพระราชหฤทัยเลย หากแต่เป้นการปฏิบัติราชการในนามสยามประเทศ ทรงเห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รักยิ่ง เพราะหลังจากเหตุการณ์ รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ต่อสยามประเทศ การเสด็จประพาสยุโรปส่งผลให้สยามรอดพ้นจากการตกเป้นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจตะวันตก ผลพลอยได้จากการเสด็จประพาสยุโรปคือทรงปฏิรูปการปกครอง และพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าเป็นแบบสากลเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ

การอ่านหนังสืออันทรงคุณค่าเล่มนี้ จะสร้างความสุนทรีย์ในอารมณ์ ชื่นชมในพระปรีชาสามารถและพระบารมีแห่งองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ที่ทำให้แผ่นดินสยามยังคงอยู่ตราบจนปัจจุบันนี้ ขอให้ทุกท่านโปรดเลือกดำเนินตามรอยพระยุคลบาท ลด ละ เลิกการอันใดที่จะบ่อนทำลายประเทศชาติเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ ในสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์สำหรับตนเอง ในทางที่ถูกต้อง และต่อประเทศชาติอันเป้นที่รักของบรรพชนสืบต่อกันมา แม้ดวงพระวิญญาณ ธ สถิต ณ สรวงสวรรค์ชั้นฟ้า ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงทราบด้วยญาณวิถีเถิดว่า ปวงประชาลูกหลานไทยทั้งผองยังสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณมิเสื่อมคลาย

ความรักละสามัคคีมีค่ายิ่ง ประเสริญเหนือกว่าเครื่องสักการะทั้งปวง

สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี

สารบัญ

บทนำ

เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์และชวาครั้งแรก

เสด็จประพาสเมืองอินเดียและพม่า

เสด็จประพาสแหลมมลายูครั้งแรก

เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์และชวาครั้งที่สอง

เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก

เสด็จประพาสแหลมมลายูครั้งที่สอง

เสด็จประพาสแหลมมลายูครั้งที่สาม

เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์และชวาครั้งที่สาม

เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สอง

ภาคผนวก

บรรณานุกรม

“เราตั้งใจอธิฐานว่า

เราจะกระทำการจนเต็มกำลังอย่างที่สุด

ที่จะให้กรุงสยามเปนประเทศอันหนึ่ง

ซึ่งมีอิสรภาพและความเจริญ”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงตั้งพระราชปณิธานไว้เช่นนี้ จึงเป็นเหตุสำคัญให้พระองค์ได้ทรงพยายามศึกษาหาความรู้ทุกวิถีทาง ในการที่จะทำให้ประเทศสยามเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับนับถือ เป็นประเทศหนึ่ง และมีการพัฒนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองเฉกเช่นอารยประเทศ

“เมื่อพ่อได้รับราชสมบัติในเวลาอายุเพียง ๑๕ ปีเท่านั้น

เหมือนตะเกียงริบหรี่จวนจะดับ

แต่อาศัยด้วยปฏิบัติอธิฐานน้ำใจในความสัตย์ธรรม

มิได้วู่วาม และมิได้อาฆาตปองร้ายต่อผู้ใด ตั้งใจจะประพฤติตาม

แบบอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในต้นพระบรมราชวงศ์ ซึ่งได้ทรงประพฤติมาและอาศัยความอุตสาหะ ความพิจารณาเนืองนิตย์

จึงได้มีความเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงเพียงนี้”

พระบรมราโชวาทที่พระราชทานไปยังสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช              เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

วันที่ ๒๓ พฤษภาคม รัตนโกสิทรศก ๑๑๒ (พุทธศักราช ๒๔๓๖)

 

เนื้อหาโดยย่อบางส่วน

กรณีพิพาท ร.ศ. ๑๑๒ (พุทธศักราช ๒๔๓๖) เป็นเรื่องที่ควรจดจำ หลังจากฝรั่งเศสเปิดปากอ่าวไทยได้ ๑๗ วัน ยึดจันทบุรีไว้เป็นประกัน ๑๑ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๔๖ (ปัจจุบันป้อมพระจุลยังคงจัดวันรำลึกถึง ร.ศ.๑๑๒ ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ของทุกปี)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระทัยดำเนินนโยบายเป็นอิสระ ไม่หวังที่จะพึ่งอังกฤษและฝรั่งเศส ทรงโปรดเกล้าฯ ส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) เสด็จไปศึกษาวิชาทหารที่ประเทศอังกฤษ พระองค์เจ้าสวัสดิ์โสภณ เป็นผู้นำเสด็จโดยมี ม.ร.ว.สิทธิ์ (พลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร) เป็นพระสหาย และ พระมนตรีพจนกิจ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) เป็นพระอภิบาล และถวายพระอักษรพิเศษ เช้าวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๓๖ เรือพระที่นั่งมกุฎราชกุมาร มีเรือเอกกุลเบิร์ก (VPP Guldberg) เป็นผู้บังคับการเรือ เดินทางไปส่งเสด็จฯ ยังสิงคโปร์ เพื่อทรงเปลี่ยนประทับเรือออลเดนเบิก (Oldenberge) ไปยังเมืองเนเปิล ประเทศอิตาลี ประทับแรมอยู่ระยะหนึ่งจึงต่อไปยังฝรั่งเศส และเสด็จต่อไปถึงอังกฤษในวันที่ ๑ พฤศจิกายนปีเดียวกัน

 

อังกฤษเป็นชาติที่มีผลประโยชน์อย่างมากในสยาม แต่การรักษาท่าทีจากการที่ฝรั่งเศสปฏิบัติต่อสยามประเทศ ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตกลงพระทัยที่จะดำเนินนโยบายอิสระ เพื่อประกันอิสรภาพของสยาม ทรงสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในยุโรปเป็นการภายใน โดยทรงอาศัยความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ พระโอรส และนักศึกษาในโครงการทุนหลวง เป็นผู้เชื่อมประสาน เพื่อให้การเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรปครั้งแรก ประสบผลที่มุ่งหมายไว้เป็นอย่างดี

พระโอรสทุกพระองค์ทรงรับการศึกษาตามสาขาวิชาต่างๆ เพื่อนำมาใช้เป็นการพัฒนาช่วยเหลือพระบิดาบริหารประเทศ ให้ถูกหลักตามระบบสากล พระราชโอรสรุ่นแรกที่ได้เสด็จไปศึกษาในยุโรปคือ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาท เสด็จไปศึกษาที่อังกฤษ และเสด็จกลับมารับราชการกรมราชเลขานุการ กระทรวงตรวจพระคลัง ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ต่อมาทรงเป็นประธานอภิรัฐมนตรีสภาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ทรงเป็นต้นราชสกุล กิติยากร

 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ทรงเป็นพระราชโอรสองค์แรกที่ทรงศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเดนมาร์ก เป็นนายทหารปืนใหญ่ที่มีผลการเรียนดี เป็นที่ชื่นชมของพระเจ้ากรุงเดนมาร์ก เสด็จกลับมารับราชการจนได้รับพระราชทานยศ จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์       กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ทรงได้รับการขนานนามว่าเป็น     “พระบิดาแห่งกองทัพบกไทย” ทรงเป็นต้นราชสกุล จิรประวัติ

 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตร์บัณฑิต (Bachelor of Arts) ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ประเทศอังกฤษ เสด็จกลับมารับราชการในสำนักเลขานุการ ภายหลังทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงพิเศษไปจัดตั้งศาลในมณฑลกรุงเก่า จากนั้นทรงย้ายมาเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม           ทรงวางรากฐานทางด้านกฎหมาย ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์แรกที่นำรถยนต์เบนซ์เดมเล่อร์คันแรกเข้าในสยาม และทรงเป็นผู้ขับรถยนต์ถวายพระเจ้าอยู่หัว

นอกจากนั้นยังทรงสั่งรถจักรยานเข้ามาขาย ข้าราชการกระทรวงยุติธรรมส่วนใหญ่มีจักรยานใช้ ทรงเป็นพระราชโอรสที่ทรงใช้พิธีพระราชทานน้ำสังข์เป็นคู่แรกกับพระชายา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอรพัทธ์ประไพ ทรงได้รับการขนานพระนามเป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” ทรงเป็นต้นราชสกุล รพีพัฒน์

 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๕ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ทรงชำนาญภาษาต่างประเทศ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เสด็จกลับมารับราชการในกรมราชเลขานุการ เป็นราชเลขานุการในพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ   (ช่วงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ทรงเป็นต้นราชสกุล ประวิตร

 สมเด็จพระเจ้าลุกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ เสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และศึกษาภาษาเยอรมันไปพร้อมๆ กัน ปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ ได้เสด็จเฝ้าฯ พระเจ้าไกเซอร์ วิลเฮล์ม ที่พระราชวัง ณ ประเทศเยอรมัน จากนั้นทรงย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยประถมของเยอรมัน ณ เมืองปอร์ตสดัม จนจบวิชาการทหารบก เสด็จกลับมารับราชการ พุทธศักราช ๒๔๔๔       เป็นเสนาบดีกระทรวงทั้งทหารบกและทหารเรือไปพร้อมกัน ดำรงพระยศ จอมพลสมเด็จ     พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นอกจากนั้นได้ทรงศึกษาวิชาดนตรีทั้งด้านประสานเสียง (Harmony) และการประพันธ์เพลง ทรงพระนิพนธ์เพลงสากล เช่น เพลงมหาฤกษ์ และเพลงพญาโศก ส่วนดนตรีไทย ทรงได้นิพนธ์เพลงไทยเดิม        แขกมอญบางขุนพรหม ทรงได้รับการขนานพระนามว่า “พระบิดาแห่งดนตรีไทย” ทรงเป็นต้นราชสกุล บริพัตร

 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เสด็จไปทรงศึกษาที่อังกฤษ และทรงย้ายไปศึกษาวิชาทหาร โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก ที่ประเทศรัสเซีย ทรงได้รับพระบรมราชานุเคราะห์ จากสมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒ ประเทศรัสเซีย  ดำรงยศพันเอกพิเศษในกรมทหารบก      ฮุสซาร์ เสด็จกลับมารับราชการ เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ทรงสนพระทัยวิทยาการก้าวหน้าทางด้านการบินทหาร และนำมาใช้ในกองทัพไทย ดำรงพระยศ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ     เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงได้รับขนานพระนามว่าเป็น       “พระบิดาแห่งกองทัพอากาศ” ทรงเป็นต้นราชสกุล จักรพงษ์

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ หลังจากที่มีการรบกับฝรั่งเศส ร.ศ. ๑๑๒ (พุทธศักราช ๒๔๓๖) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้เสด็จไปศึกษาวิชาการทหาร ณ โรงเรียนนายเรืออังกฤษ ทรงศึกษาวิชาการเดินเรือที่วิทยาลัยทหารเรือกรีนิช (Royal Naval Collage) ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่สำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือ จากประเทศอังกฤษ และเคยนำทหารเข้าทำการรบ ทรงมีประสบการณ์ผ่านการศึกมาแล้ว เสด็จกลับมาทรงปรับปรุงกองทัพเรือ ทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาโรงเรียนนายเรือ ทรงใช้ดอกประดู่สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ เปรียบเทียบความรักและความสามัคคีของทหารเรือ ทรงได้รับการเฉลิมพระนามว่า พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระองค์เปรียบเสมือนพระบิดาของทหารเรือไทย วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ของทุกปี กองทัพเรือจะถือเป็นวันอาภากร ทรงเป็นต้นราชสกุล อาภากร

 

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี  ทรงศึกษาเริ่มแรกประทับ ณ เมือง     ไบรตัน (Brighton)  ทางตอนใต้ของอังกฤษ ทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนเฮิร์ส (Royal Military Academy Sand Hurst) เมื่อสำเร็จการศึกษาทรงเข้ารับราชการในกรมทหารราบเบา  “เดอร์ม” (Durham Light Infantry) ที่นอร์ธแคมป์ (North Camp) ณ แอลเดอร์ซอต ทรงไปศึกษาที่โรงเรียนปืนเล็กยาวที่เมืองไฮยท์ (School of Musretry Hythe) ทรงได้รับประกาศนียบัตรพิเศษและเหรียญแม่นปืน เสด็จไปศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และกฎหมายต่อที่วิทยาลัยไครซ์เชิร์ช (Christ Church Collage) มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (Oxford University) เสด็จกลับพระนครในเดือนมกราคมปีพุทธศักราช ๒๔๔๕ เสด็จเข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งกองลูกเสือแห่งชาติ นับได้ว่าพระองค์ คือ “พระบิดาแห่งลูกเสือไทย”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยูรพันธุ์ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส ทรงเป็นพระโอรสร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกับกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ จบมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เสด็จกลับมารับราชการ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เป็นอธิบดีกรมกษาปณ์สิทธิการ และย้ายมารับราชการกรมศิลปากร ทรงดำรงตำแหน่งองคมนตรีเป็นตำแหน่งสุดท้าย ทรงเป็นต้นราชสกุล สุริยง

 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์พงศ์ ทรงศึกษาที่อังกฤษ  เสด็จกลับมารับราชการกระทรวงเกษตร ยามว่างทรงศึกษาดนตรี และจัดการแสดง ทรงนิพนธ์เพลงซึ่งเป็นที่รู้จักกันคือ  “เพลงลาวดวงเดือน” ดำรงพระยศ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์พงศ์  กรมหมื่น พิไชยมหิทโรดม ทรงเป็นต้นราชสกุล  เพ็ญพัฒน์

 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์  เสด็จไปศึกษาที่อังกฤษ พร้อมกับสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จเยือนยุโรป ปีพุทธศักราช ๒๔๔๐  ทรงเป็นพระโอรสพระองค์แรกที่จบรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เสด็จกลับมารับราชการกระทรวงมหาดไทย  ทรงรับตำแหน่งอุปราชมลฑลปักษ์ใต้เป็นองค์สุดท้าย ทรงประทับที่        วังลดาวัลย์ ซึ่งส่วนใหญ่เรียกกันว่า “วังแดง” ทรงเป็นต้นราชสกุล ยุคล

 พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ เสด็จไปศึกษาวิชาเบื้องต้นที่โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ ศึกษาวิชาวิศวกรรมโยธา ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สำเร็จการศึกษาปีพุทธศักราช ๒๔๔๖ ทรงศึกษาต่อวิชาช่างทหารบกที่โรงเรียนวิศวกรรมทหาร ณ เมืองแซทแฮม ทรงไปศึกษาเพิ่มเติมที่ประเทศฝรั่งเศสและเรียนการขุดคลองทำนบกั้นน้ำในประเทศฮอลันดา และเสด็จกลับมาฝึกงานต่อที่ประเทศอังกฤษ ทรงได้ M.I.C.E. (Member Institute Of Civil Engineers) ปีพุทธศักราช ๒๔๔๗ จึงเสด็จกลับกรุงเทพพระมหานคร ทรงเข้ารับราชการในเหล่าทหารช่าง ทรงนำเครื่องโทรเลขสัญญาณรหัสมอส (Mores Code) มาใช้ ทรงเป็นผู้ที่สนใจเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทรงเป็นผู้จัดการรวมการรถไฟและจัดตั้งวิทยุกระจายเสียง ดำรงพระยศ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชร   อัครโยธิน ได้รับการขนานพระนามว่า “พระบิดาแห่งการรถไฟไทย” ทรงเป็นต้นราชสกุล     ฉัตรชัย

 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เสด็จไปศึกษาในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๔ เสด็จกลับมาดำรงตำแหน่งจเรทหารเรือ เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และท้ายสุดเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร ทรงเป็นต้นราชสกุล วุฒิชัย

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี ประสูติจากพระมารดา     เจ้าจอม เจ้าทิพเกสร แห่งนครเชียงใหม่ ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีพ.ศ.๒๔๒๙ พระนามเดิม พระองค์เจ้าดิลกจันทรนิภาธร ทรงเปลี่ยนพระนามความหมายของดิลกนพรัฐ หมายถึง ศรีเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ทรงตามเสด็จพระบิดาไปด้วย เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป และเข้าศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ครั้นจบการศึกษาเบื้องต้นจากประเทศอังกฤษ ก็เสด็จไปศึกษาต่อในประเทศเยอรมัน ทรงเป็นพระราชโอรสองค์เดียวที่จบการศึกษาสูงสุด ทรงได้รับวุฒิบัตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัย ทึบบิงเงน ประเทศเยอรมัน

เสด็จกลับมารับราชการในกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งปลัดกรมพิเศษ แผนกอัยการต่างประเทศ ทรงเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยราชปลัดทูลฉลอง กระทรวงมหาดไทย และเจ้ากรมพลำพัง (กรมการปกครอง) ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่จบดอกเตอร์ด้านเศรษฐศาสตร์ จากประเทศเยอรมัน ที่มีพระอัจฉริยภาพในด้านวิชาการดีมาก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีด้วย หลังจากสิ้นพระชนม์ เมื่อ ๑๒ มกราคม ๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนา เป็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสวรรควิสัย นรบดี เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) ขึ้นครองราชย์ ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนา เป็นพระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี (๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๘) ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) ขึ้นครองราชย์ ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยศเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสวรรควิสัยนรบดี (๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๘) ทรงอภิเษกสมรส ไม่มีโอรสและธิดาสืบสกุล สิ้นพระชนม์ไม่มีผู้สืบสกุล จึงไม่มีตราราชสกุล

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ ๕๒ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นพระมารดาอุปถัมภ์มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เสด็จศึกษา ณ ประเทศเยอรมัน ทางด้าน Philosophy ทรงเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนแพทยาลัย สังกัดกระทรวงธรรมการ ทรงเป็นอธิบดีกรมสาธารณสุขพระองค์แรก และทรงถูกกล่าวหาว่าสมคบการเป็นกบฏโดยมิเป็นธรรมจากคณะราษฎร์

ช่วงสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับโทษและถูกถอดพระยศอยู่ในเรือนจำเป็นเวลาหลายปี จึงได้รับการถวายพระยศคืน ภายหลังทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๙ และทรงเป็นองคมนตรี ทรงเป็นผู้นำทางด้านเภสัชกรรมและการสาธารณสุขไทย ทรงเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สิ้นพระชนม์เป็นองค์สุดท้าย ทรงเป็นต้นราชสกุล รังสิต

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ทรงเสด็จไปศึกษาที่อังกฤษ สอบได้เป็นศิลปศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) จากนั้นทรงศึกษาต่อด้านการดนตรี ทรงสนพระทัยฮาร์ฟ (Harp) คือ พิณฝรั่ง       ๔๖ สาย ทรงเป็นชาวเอเชียพระองค์แรก ที่ชำนาญการเล่นพิณฝรั่ง ทรงใช้เวลาศึกษาในอังกฤษนานถึง ๑๓ ปี พุทธศักราช ๒๔๖๒ ทรงเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง  ทรงสนพระทัยงานหัตถกรรม ทรงให้ความรู้และเผยแพร่งานศิลปะ เช่น งานเครื่องถม งานช่างทอง จนมีชื่อเฉพาะว่า “ถมจุฑาธุช”  นับว่าทรงเป็น “พระบิดาแห่งศิลปหัตถกรรมไทย” ทรงเป็นต้นราชสกุล    จุฑาธุช

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงศึกษาที่โรงเรียนฮาร์โรว์ ประเทศอังกฤษ จากนั้นเสด็จไปศึกษาวิชาทหารโรงเรียนนายร้อยขั้นต้นปอร์ตสดัม       ณ ประเทศเยอรมัน จบการศึกษาวิชาทหารบก ทรงเปลี่ยนเหล่ามาเรียนนายทหารเรือเยอรมัน เสด็จกลับมารับราชการทหารเรือ

ช่วงพุทธศักราช ๒๔๕๘ – ๒๔๕๙ และกราบบังคมทูลลาไปทรงศึกษาเตรียมแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมดิคัลสกูล (Harvard Medical School) เสด็จกลับมาปฏิบัติภารกิจเป็นแพทย์แผนปัจจุบันที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ ทรงประสานงานขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) เพื่อมาปรับปรุงการศึกษาของแพทย์ในเมืองไทย รวมทั้งการให้ทุนทางการศึกษาแพทย์ต่อในต่างประเทศ ทรงได้รับการเฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ ทรงเป็น  “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” ทรงเป็นต้นราชสกุล มหิดล

 เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา เสด็จไปศึกษาวิชาการทหาร โรงเรียนเตรียมทหารอังกฤษ เสด็จกลับมารับราชการกระทรวงทหารเรือ เป็นผู้สำเร็จราชการ กระทรวงทหารเรือ พระยศ นายพลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา สิ้นพระชนม์ ไม่มีผู้สืบสกุล จึงเป็นอีกพระองค์ ที่ไม่มีตราราชสกุลปรากฎ

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช ทรงศึกษาที่วิทยาลัยอีตั้น ทรงจบวิชาทหารปืนใหญ่ โรงเรียนนายร้อยทหารเมืองวูลิช จบหลักสูตรเข้าประจำกรมทหารปืนใหญ่ม้าอังกฤษ ได้เลื่อนยศเป็นร้อยโท เสด็จกลับมารับราชการฝ่ายเสนาธิการยศพันโท เข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างสะพาน ปฐมบรมราชานุสรณ์สะพานพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเชื่อมความเจริญให้กับประชาชนทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำ และเป็นผู้ที่ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนไทย ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกที่ทรงสละราชสมบัติ และทรงนิราศร้างประเทศ  เพื่อให้อำนาจประชาชนในการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย ทรงเป็นต้นราชสกุล ศักดิเดช

พระราชโอรสในจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ นับได้ว่าทรงมีอัจฉริยภาพเป็นอย่างยิ่งในการช่วยบริหารบ้านเมือง ให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองตามรอยพระยุคลบาทองค์พระบรมชนกนาถ พระโอรสแต่ละพระองค์ขณะทรงศึกษา ณ ต่างประเทศ ทรงเป็นผู้ปูพื้นฐานในการประชาสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์นานาประเทศที่ทรงศึกษาอยู่ ได้เห็นซึ่งเกียรติภูมิและความสามารถของคนไทย

นโยบายของการที่เสด็จเยือนนานาประเทศในยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยามเมื่อทรงปรากฏพระองค์ในทุกสถานที่ เป็นลักษณะของชาวเอเชียที่มีความสง่างามด้วยพระอิริยาบถเฉพาะพระองค์ สร้างความศรัทธาเคารพยกย่องให้เป็นที่ปรากฏในทุกสถานที่ บอกถึงความเป็นเอกราชของสยาม แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ก็ตาม

การทุ่มเทแรงพระวรกาย และด้วยพระทัยที่ตั้งมั่น เพื่อการสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรือง ให้แก่ประเทศสยามในทุกๆ ด้าน ล้วนเป็นประโยชน์ระยะยาวต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

สิ่งที่ได้ตามมานอกจากการจัดระบอบการปกครอง ยังทำให้สยามประเทศมีสถาปนิก วิศวกร มัณฑนากร ช่างฝีมือ ชาวต่างชาติเข้ามารับราชการในรัชสมัยของพระองค์มากมาย เป็นความสัมพันธ์ทางใจที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นชาวอิตาเลียนให้ความนิยมยกย่อง และพร้อมที่จะถวายตัวรับใช้ด้วยความซื่อสัตย์ ทำให้เกิดสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่สวยงามขึ้นให้ชนรุ่นหลังได้ชื่นชมมากมายหลายแห่ง เช่น ถนนราชดำเนิน พระที่นั่งอนันตสมาคม ศิลปะทางศาสนาที่เห็นชัดคือ โบสถ์วัดราชาธิวาส วัดเบญจมบพิตร วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร ที่บางปะอิน สะพาน แนวถนนราชดำเนิน ฯลฯ

นอกจากนั้นยังทรงสนพระทัยการแลกเปลี่ยนแสตมป์ในการส่งพระราชสาสน์ให้กับพระราชวงศ์ในยุโรป เป็นการสร้างสัมพันธไมตรีต่อเนื่องที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นของการมีกรมไปรษณีย์ ในเวลาต่อมา

กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงนำกองดุริยางค์สากลมาประยุกต์ใช้ร่วมในพระราชพิธีสวนสนามของทหาร สิ่งที่สร้างสรรค์ให้เห็นมาจนปัจจุบัน คือ แบบเครื่องแต่งกายของทหาร          ราชองครักษ์ เป็นชุดที่สวยสง่างามมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกก็ว่าได้

ประการสำคัญที่สุด เป็นการพัฒนาแนวทางแบบอย่างที่ดีของประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานสำหรับเยาวชน ประชาชน เพื่อปรับใช้ในการดำเนินชีวิตเป็นพลเมืองดี สืบสานสังคมให้อยู่รวมกันด้วยสันติ

พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง นำมาซึ่งอิสรภาพและความเป็นไทอยู่ได้สืบต่อมาด้วยพระบรมราชสันตติวงศ์ที่ถ่ายทอดความเป็นอัจฉริยะและพระปรีชาสามารถสู่รัชสมัยขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงปกครองประเทศด้วยความเมตตา “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ทรงสอนให้ราษฎรรู้จักคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” การประกอบอาชีพด้วยการเรียนรู้ พัฒนาตนให้ทันต่อสถานการณ์ ทรงช่วยราษฎรของพระองค์ด้วยโครงการมากมาย เพื่อให้การเกษตรกรรม เจริญก้าวหน้า มีผลผลิตที่ดี มีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคง ทรงมีพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ประชาชน หลายวาระขออัญเชิญมากล่าว ณ ที่นี้

“คนที่จะรักษาความเป็นไทยได้มั่นคงที่สุด ดีและเหมาะสมที่สุด ไม่มีใครอื่นนอกจากคนไทย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใด คนไทยมีหน้าที่ ต้องรักษาความเป็นไทยเสมอ ทั้งทางวัตถุ ทางจริยธรรม และภูมิปัญญา”

สายพระราชจักรีวงศ์ ที่ทรงตามรอยพระยุคลบาท ดำรงชาติไทยสืบต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ทรงเกื้อกูลให้งานทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ เพื่อบรรลุผลอันพึงประสงค์

แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ที่ต้องรักษาไว้ให้วัฒนาถาวรสืบต่อไป

 

ISBN                  978-616-376-053-1

Barcode              978-616-376-053-1

พิมพ์โดย            สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี

ชื่อหนังสือ          ตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง ประพาสต่างแดน

ผู้เรียบเรียง         ดนัย จันทร์เจ้าฉาย

พิมพ์ครั้งที่ ๓       ตุลาคม ๒๕๖๐

จำนวนหน้า         ๒๒๐ หน้า

ราคา                 ๒๔๙ บาท

ขนาด                 ๑๕ x ๒๓ เซนติเมตร